Highlight
- HTTP Status Codes คือโค้ดที่ใช้บอกสถานะการทำงานของเว็บไซต์นั้นๆ แยกเป็น 5 ประเภทหลักๆ ได้แก่ 1xx | 2xx | 3xx | 4xx | 5xx โดยโค้ดที่จะเห็นบ่อยที่สุดอยู่ที่ 4xx และ 5xx
- HTTP Error Code ที่พบเจอได้บ่อยๆ ก็คือ Error 403, Error 404, Error 500, Error 502, Error 503
เวลาที่เข้าเว็บไม่ได้ เรามักจะเห็นข้อความพร้อมตัวเลขแจ้งเตือนขึ้นมาอย่าง 404 Page Not Found หรือ 500 Internal Server Error บ้างล่ะ เคยสงสัยไหมว่ามันคืออะไร? สาเหตุที่ทำให้เกิดคืออะไร? และจะแก้ไขเจ้าตัวเลขปัญหาเหล่านี้ยังไง? มาหาคำตอบได้จากบทความนี้เลย
บทนำ : HTTP Status Codes
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ไอ้เจ้าตัวเลข 3 หลัก พร้อมข้อความภาษาอังกฤษ ที่แจ้งเตือนขึ้นมาเวลาเข้าหน้าเว็บไซต์ไม่ได้ อย่าง Error 404 หรือ Error 500 เนี่ย มันคือ "โค้ดบอกสถานะการทำงานของ HTTP (HTTP Status Codes)" ที่บอกว่าการร้องขอข้อมูลจากเครื่องของเราไปยังเซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์นั้นๆ ทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จเพราะอะไร นั่นก็เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
จากข้อมูลที่อ้างอิงใน Wikipedia ระบุไว้ว่ามี HTTP Status Codes อยู่มากกว่า 70 โค้ดเลยทีเดียว (และจะมากขึ้นอีกในอนาคต) ซึ่งแบ่งโค้ดออกเป็น 5 กลุ่มหลักๆ โดยใช้เลขตัวแรกเป็นตัวระบุกลุ่มของประเภทโค้ด และตามด้วยเลขท้ายอีก 2 ตัว ดังนี้
- 1xx (ข้อมูลทั่วไป) : ได้รับคำขอจากเครื่องของเราแล้ว ดำเนินการต่อได้
- 2xx (การร้องขอสำเร็จ) : ดำเนินการตามคำขอเสร็จแล้ว เข้าใจตรงกันระหว่างเครื่องและเซิร์ฟเวอร์ ดำเนินการต่อได้
- 3xx (การเปลี่ยนเส้นทาง) : มีการเปลี่ยนเส้นทางจากคำขอ ดำเนินการต่อได้
- 4xx (เกิดความผิดพลาดที่เครื่องของผู้ใช้) : คำขอไม่ถูกต้อง ส่งคำขอมาผิด ดำเนินการต่อไม่ได้
- 5xx (เกิดความผิดพลาดจากเซิร์ฟเวอร์แม่ข่าย) : เซิร์ฟเวอร์แม่ข่ายไม่พร้อม เข้าสู่หน้าเว็บไม่ได้ แม้จะส่งข้อมูลมาอย่างถูกต้อง
โค้ดแสดงสถานะของ HTTP (HTTP Status Codes) 1xx / 2xx / 3xx สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปอย่างเราแทบจะไม่เห็นกันเลย ส่วนโค้ดที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ จะเป็นโค้ด 4xx หรือ 5xx ที่เกิดปัญหาจากเครื่องของเราและเซิร์ฟเวอร์ซะเป็นส่วนใหญ่ โดยเราจะมาทำความเข้าใจกับโค้ดที่พบเห็นกันบ่อยๆ นะครับ
HTTP Status Codes ที่พบเจอบ่อยๆ
มาดูกันครับว่า HTTP Status Codes หรือ Error Code ที่เราพบเจอกันบ่อยๆ นั้น มันเกิดขึ้นได้ยังไง เราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ยังไง และจะมีอะไรบ้างลองไปดูกันเลย
Error 404 — Not Found
(เข้าเว็บไม่ได้ หน้าเว็บไม่มีอยู่ หรือกรอกที่อยู่ URL ผิด)
บอกเลยว่านี่เป็นโค้ดยอดฮิตที่แวะเวียนมาให้เห็นหน้าค่าตากันอยู่บ่อยๆ เวลาที่เรากรอกที่อยู่ URL ผิด หรือที่อยู่เว็บไซต์นั้นไม่มีอยู่จริง (หาย หรือ ปิดไป) ยกตัวอย่าง เช่น หากเราเข้าหน้าเว็บที่ไม่มีอยู่จริงอย่าง www.thaiware.com/1234 ก็จะพบกับโค้ด Error 404 โชว์ขึ้นมาเพื่อบอกว่า "คุณกำลังเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ที่ไม่มีอยู่ในเซิร์ฟเวอร์นะ หรือ ไฟล์เหล่านั้นไม่มีอยู่บนเซิร์ฟเวอร์แล้ว"
ส่วนวิธีแก้ปัญหา Error 404 ก็คือตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ URL ให้ถูกต้อง แต่ถ้ามั่นใจว่าใส่ถูกต้องแล้วแต่ก็ยังเป็นเหมือนเดิมเข้าไม่ได้ นั่นหมายความว่าที่อยู่เหล่านั้นไม่มีอยู่แล้ว
_______________________________________________
Error 403 — Forbidden
(เข้าเว็บไม่ได้ ต้องได้รับอนุญาตก่อน)
ถ้าเปรียบเว็บไซต์เหมือนบ้านของคนอื่น เวลาที่คุณจะเข้าบ้านเขา ก็ต้องขออนุญาตก่อนเข้าบ้านเขาเสียก่อน ซึ่งเจ้าตัวโค้ด Error 403 ตัวนี้ก็เช่นกัน มันคือโค้ดที่บอกว่า คุณไม่สามารถเข้าสู้หน้าเว็บไซต์นั้นได้ เพราะเจ้าของไม่อนุญาต
วิธีแก้ปัญหาของโค้ด 403 Forbidden ก็คือต้องติดต่อกับคนดูแล (Admin) ของเว็บไซต์นั้นๆ เพื่อให้เขามอบสิทธิ์ให้เรา เพื่อที่จะเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ของเขา
_______________________________________________
Error 500 — Internal Server Error
(เซิร์ฟเวอร์ล่มอยู่นะ ไว้ค่อยกลับเข้ามาใหม่)
Error 500 Internal Server Error เป็นอีกหนึ่งโค้ดที่ผู้ใช้งานอย่างเราๆ เจอกันเป็นประจำตอนที่เว็บไซต์มีปัญหา ต้นตอของปัญหานี้เกิดจากเซิร์ฟเวอร์แม่ข่ายไม่พร้อมให้บริการ หรือกำลังมีปัญหาอยู่ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ได้ เจ้าโค้ดนี้ไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามีปัญหาอะไร มันแจ้งแค่ว่ากำลังมีปัญหาเท่านั้น
โค้ด Error 500 นี้ แก้ปัญหาไม่ได้เพราะเกิดขึ้นที่เซิร์ฟเวอร์แม่ข่าย ทำได้แค่เพียงแค่ รอจนกว่าทางเซิร์ฟเวอร์จะกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ถึงจะสามารถเข้าดูได้
_______________________________________________
Error 502 — Service Temporarily Overloaded
(ผู้เข้าชมเยอะเกินไป เซิร์ฟเวอร์รับไม่ไหว!)
ปัญหา Error 502 Service Temporarily Overloaded นี้ พบบ่อยมากๆ เวลาที่เหล่าชาวเน็ตแห่กันไปเข้าสู่เว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งพร้อมๆ กัน จนเกิดการ Overloaded หรือผู้เข้าชมเยอะเกินกว่าจะรับไหว ส่งผลให้เซิร์ฟเวอร์ล่ม
สำหรับปัญหา Error 502 นี้ เราที่เป็นผู้เข้าชม ไม่สามารถแก้ไขหรือจัดการอะไรได้เลย ถ้าเจอแบบนี้ ไม่ต้องหาวิธีทำอะไร แค่รอให้คนที่เข้าชมเว็บน้อยลง หรือรอให้เซิร์ฟเวอร์กลับมาทำงานเป็นปกติ เราถึงจะเข้าชมเว็บได้ ส่วนมากมักเป็นบ่อยๆ ในเว็บที่เปิดให้จองบัตรหรือตั๋วทั้งหลาย เช่น เว็บจองบัตรคอนเสิร์ต เป็นต้น
_______________________________________________
Error 503 — Service Unavailable
(เซิร์ฟเวอร์ปิดปรับปรุง ยังไม่พร้อมใช้งาน)
Error 503 Service Unavailable ก็คือเซิร์ฟเวอร์ไม่พร้อมให้บริการ เข้าถึงไม่ได้ และระบุไว้ชัดเจนว่าเกิดจากความตั้งใจของตัวผู้ดูแล (Admin) ที่ทำการปิดระบบแบบชั่วคราว
ถ้าเจอโค้ดนี้แสดงขึ้นมาก็บอกเลยว่า เราทำอะไรไม่ได้ ต้องรอจนกว่าทางผู้ดูแลเขาจะจัดการจนเสร็จแล้วกลับมาเปิดอีกครั้ง ซึ่งอาจจะใช้เวลาเท่าไรก็ไม่สามารถระบุได้
หวังว่าหลังจากที่เพื่อนๆ ได้อ่านบทความนี้ไป จะเข้าใจเกี่ยวกับ HTTP Status Codes มากขึ้นไม่มากก็น้อย และอาจจะนำวิธีแก้ไขไปใช้ได้นะครับ
ที่มา : www.thaiware.com
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น